การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (IEC) ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม และด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยยึดถือการปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ IEC ด้วยเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ IEC จึงได้ลงนามในคำประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติ ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption, “CAC”) ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่า IEC มีการกำหนดถึงแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบในกิจกรรมทางธุรกิจของ IEC จึงได้กำหนดเป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นไว้ให้มีผลครอบคลุมไปในทุกกระบวนการของธุรกิจและทุกหน่วยงานใน IEC โดยกำหนดโครงสร้างองค์กรในการกำกับดูแลให้ทุกภาคส่วนได้นำนโยบายและแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติ ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานของ IEC ในทุกระดับมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติงานโดยยึดหลักนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัดและถือว่าเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในวัฒนธรรมองค์กรของ IEC





โครงสร้างองค์กรการกำกับดูแลการนำนโยบายและแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ

ขอบเขตอำนาจหน้าที่

คณะกรรมการบริษัท : มีหน้าที่พิจารณานโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น กำกับดูแลและสนับสนุนเพื่อให้มั่นใจว่ามีการนำนโยบายและแนวทางปฏิบัติไปใช้ทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

คณะกรรมการตรวจสอบ : มีหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการตรวจสอบภายใน และการจัดทำรายงานทางการเงิน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการควบคุมภายในของบริษัทฯมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างพอเพียง และให้มั่นใจว่าการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆภายในบริษัทมีความสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางต่อต้านการคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี : มีหน้าที่กำหนดและทบทวนนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัท

คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง : มีหน้าที่บริหารและประเมินความเสี่ยงด้านการต่อต้านคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการบริหาร : มีหน้าที่ในการผลักดันและสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานมีการนำนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไปใช้ทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ : มีหน้าที่ในบริหารงาน สื่อสาร กำกับดูแล และสนับสนุน เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานมีการนำนโยบายและแนวทางปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชั่น ไปใช้ทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น แก่คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ผู้บริหารและพนักงานในทุกระดับ : มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ในการปฏิบัติงานโดยยึดหลักนโยบายและแนวทางการต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด โดยปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชั่น และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งการรายงานหรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นอย่างเต็มที่